Executive Function กระบวนทัศน์ใหม่ด้านทักษะการคิด (ตอนแรก)

By : Jakkrit Siririn


ในปัจจุบัน ดูเหมือนว่าบรรดาทฤษฎีเกี่ยวกับการคิด ค่อนข้างจะไม่มีอะไรใหม่หรือเรียกได้ว่าแทบไม่มีความเคลื่อนไหว คืบหน้า หลังจากวงการวิชาการด้านการคิด ได้เดินมาถึงกระบวนการคิดขั้นสูง

กระบวนการคิดขั้นสูง หรือ High-Level Cognitive Functions ส่งผลให้เกิดแนวคิดใหม่เกี่ยวกับการคิดเพิ่มขึ้นอีกมากมาย

โดยปัจจุบันมีการพูดถึงกระบวนการคิดขั้นสูงไม่เฉพาะในเชิงนามธรรม ทว่า มีการย้อนกลับไปสู่ประเด็นรูปธรรม คือทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของสมอง

และหนึ่งในกระบวนทัศน์ใหม่ด้านทักษะการคิด ในกลุ่มกระบวนการคิดขั้นสูง ที่เกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับการทำงานของสมองก็คือ Executive Function

Executive Function คือ ความสามารถของสมองในการบริหารจัดการ เป็นกระบวนการทางความคิด หรือ Mental Process

Executive Function มีส่วนช่วยในการวางแผน กำหนดเป้าหมาย จัดลำดับความสำคัญ และบริหารจัดการ โดยการทำไปเป็นขั้นตอนจนงานต่างๆ สำเร็จลุล่วง

อีกทั้งยังช่วยให้เกิดความยับยั้งชั่งใจ ไม่ให้สิ่งเร้ามาเบี่ยงเบนความสนใจไปนอกลู่นอกทาง

กล่าวโดยสรุปก็คือ Executive Function เป็นทักษะที่ใช้ในการจัดการกับการเรียนรู้ ถือเป็นทักษะที่มีความสำคัญ ทั้งต่อความสำเร็จในการเรียน การทำงานอาชีพ

และโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ การสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ

พูดอีกแบบก็คือ Executive Function เป็นกระบวนการสร้างเสริมศักยภาพสมองของมนุษย์ที่สามารถพัฒนาเป็นทักษะ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของศตวรรษที่ 21 ซึ่งมุ่งเน้นไปที่คำว่าทักษะ

Executive Function จึงถือเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ด้านทักษะการคิด ในยุคศตวรรษที่ 21 และยุค Education 4.0 นั่นเองครับ

เนื่องจาก Executive Function เป็นกระบวนการสร้างเสริมศักยภาพสมอง โดยเฉพาะสมองส่วนหน้า

ดังนั้น ก่อนที่จะลงรายละเอียดถึงตัวแปรของ Executive Function ขอปูพื้นเกี่ยวกับส่วนประกอบของสมองกันก่อนสักเล็กน้อย

ส่วนประกอบของสมองแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ

สมองส่วนหน้า ประกอบด้วย Olfactory bulb อยู่ด้านหน้าสุดทำหน้าที่ดมกลิ่น

Cerebrum มีขนาดใหญ่ที่สุด ประกอบด้วยรอยหยักเป็นจำนวนมาก ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ และเป็นศูนย์การทำงานของกล้ามเนื้อ การพูด การมองเห็น การชิมรส แบ่งเป็นสองซีก และแต่ละซีกจะแบ่งออกอีก 4 พูดังนี้

Frontal lobe ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหว การออกเสียง ความคิด ความจำ สติปัญญา บุคลิก ความรู้สึก พื้นอารมณ์ Temporal lobe ทำหน้าที่ควบคุมการได้ยิน การดมกลิ่น Occipital lobe ทำหน้าที่ควบคุมการมองเห็น และ Parietal lobe ทำหน้าที่ควบคุมความรู้สึกด้านการสัมผัส การพูด การรับรส

Hypothalamus ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของระบบประสาทอัตโนมัติ และสร้างฮอร์โมนเพื่อควบคุมการผลิตฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง ซึ่งจะทำการควบคุมสมดุลของปริมาณน้ำ และสารละลายในเลือด และยังเกี่ยวกับการควบคุมอุณหภูมิร่างกาย อารมณ์ความรู้สึก วงจรการตื่นและการหลับ การหิว การอิ่ม และความรู้สึกทางเพศ

Thalamus อยู่เหนือ Hypothalamus ทำหน้าที่เป็นสถานีถ่ายทอดกระแสประสาทเพื่อส่งไปจุดต่างๆ ในสมอง รับรู้และตอบสนองความรู้สึกเจ็บปวด ทำให้มีการสั่งการแสดงออกพฤติกรรมด้านความเจ็บปวด

สมองส่วนกลาง Midbrain เป็นสถานีรับส่งประสาท ระหว่างสมองส่วนหน้ากับส่วนท้าย และสมองส่วนหน้ากับนัยน์ตาทำหน้าที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของลูกตา และม่านตา สมองส่วนนี้จะเจริญไปเป็น Corpora quadrigermia ทำหน้าที่เกี่ยวกับการได้ยิน

 

Reviews

Comment as: